มีใครคิดถึงอากาศหนาวที่ผ่านมาแล้วบ้าง ตอนนี้ความร้อนแบบจัดเต็มชุดใหญ่ก็กำลังมา โดยที่อากาศร้อนจัดเสี่ยงผลกระทบสุขภาพ 4 ระดับ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วนควรระวัง
ภัยจากสภาพอากาศร้อนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ
มี 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับน้อยสุดจนถึงขั้นรุนแรงสุด คือ
- ทำให้ผิวหนังไหม้ (Sun burn)
- ตะคริว (Heat cramp) เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก
- อาการเพลียแดด (Heat exhaustion) เนื่องจากสูญเสียเหงื่อมาก เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง จะมีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ
- เป็นลมแดด (Heat Stroke) เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ตัวจะร้อนจัด สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ จะมีอาการสำคัญที่ต่างจากอาการเป็นลมแดดทั่วๆ ไปคือ ตัวร้อนจัด ผิวหนังจะแห้ง ไม่มีเหงื่อออก มีอาการผิดปกติระบบประสาท เช่น เดินเซ กระสับกระส่าย หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ปี 2546-2556 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 196 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุมากที่สุดพบร้อยละ 16 รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้ที่มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา โดยเฉพาะปี 2556 มีผู้เสียชีวิตในเดือนมีนาคม-เมษายน จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์
ที่น่าห่วงและมีอันตรายสูงคือ ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติ ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งบางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส กลุ่มเสี่ยงต่อโรคจากความร้อน ได้แก่ 1.เด็กเล็ก 2.ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี 3.คนอ้วน 4.ผู้ใช้แรงงานอย่างหนักหรือผู้ออกกำลังกายหนัก 5.ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานกลางแดด ทหารเกณฑ์ระหว่างฝึกหนัก เด็กที่ถูกทิ้งไว้ในรถที่ดับเครื่องกลางแดดรอผู้ปกครอง ก็ต้องระวังโรคจากความร้อนเป็นพิเศษ
การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ สำหรับการป้องกันอันตรายจากโรคลมแดด ในช่วงที่มีอากาศร้อน แนะนำให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หากเป็นไปได้ควรอยู่ภายในบ้าน เช่นใต้ถุนบ้าน หรืออยู่ใต้ร่มไม้ ลดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติจากวันละ 1-2 ลิตร เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1 ลิตร เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก น้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมย้ำเตือนประชาชนอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถ จะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
วิธีดูแลสุขภาพหน้าร้อน
ไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด ฤดูร้อน อากาศร้อน ต้องหาทางช่วยดับความร้อน เพื่อป้องกันความร้อนกระทบร่างกายมากเกินไป เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่วิธีการให้ความเย็นแทนที่มากเกินไป เช่น กินน้ำแข็ง อยู่ในที่ที่มีความเย็น กินแต่อาหารที่มีความเย็น ฯลฯ นับว่าไม่เหมาะสม โดยทั่วไป เรามักดื่มน้ำเย็นๆ น้ำใส่น้ำแข็ง น้ำชาแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็ง น้ำอัดลม ผลไม้แช่เย็น เช่นแตงโม สับปะรด ฯลฯ ของเย็นๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร น้ำเย็นปริมาณมากจะไปเจือจางน้ำย่อย และมีผลให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหาร เพื่อทำการย่อยลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพการย่อยอาหารลดลง ก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบได้ง่าย คนที่เป็นโรคกระเพาะและเป็นแผลอักเสบอยู่แล้วก็จะกำเริบได้ง่าย หรือคนที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ หากดื่มน้ำเย็นก็จะยิ่งทำให้มีอาการไอและหอบมากขึ้น นอกจากนั้น น้ำแข็งที่ไม่สะอาดก็มีส่วนทำให้เกิดท้องร่วงท้องเสียอีกด้วย
- เครื่องดื่มที่เหมาะสมในหน้าร้อน ในฤดูร้อนที่เรามีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อมาก การทดแทนน้ำในร่างกายที่เสียไปที่ดี คือ การดื่มน้ำเปล่า (ที่สุกแล้ว) หรือถ้าจะเสริมปรุงแต่งด้วยน้ำตาล เกลือ หรือสมุนไพรอื่นๆ ก็สามารถเลือกได้ตามความชอบและความเหมาะสม เช่น
- การดื่มชาร้อน น้ำเก๊กฮวยน้ำดอกสายน้ำผึ้ง น้ำใบไผ่ น้ำบ๊วย น้ำถั่ว จะช่วยลดความร้อนของหัว ใจ (การไหลเวียนเลือด) ทำให้ตาสว่าง เพิ่มน้ำในร่างกาย บำรุงตับ บำรุงไต เจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ขับปัสสาวะเสริมพลังร่างกาย
- การเติมน้ำตาลและเกลือ(ในปริมาณที่พอเหมาะ) ในเครื่องดื่มต่างๆ จะช่วยเสริมพลังและป้องกันการสูญเสียเกลือโซเดียมของร่างกายได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือใช้แรงงานมาก
ตัวอย่าง เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพหน้าร้อน
- ดอกเก๊กฮวย ๑๐ กรัม ชาใบเขียว ๑๐ กรัม ต้มใส่น้ำ ๕๐๐ ซีซี กินแทนน้ำ ช่วยขับร้อน ทำให้ตาสว่าง เสริมสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ลดอักเสบ ขับพิษร้อน
- ใบบัวสด (บัวหลวง) ๒๐กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี นำมาต้ม เวลาดื่มเติมน้ำตาลเล็กน้อย จะช่วยขับร้อน ทำให้เย็น สร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ขับความชื้น ลดไขมันในเลือด
- ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำอย่างละ ๕๐ กรัม ต้มใส่น้ำตาลกินทั้งเปลือก มีสรรพคุณขับร้อน ทำให้เย็น ขับความชื้น บำรุงไต เพิ่มพลัง
- บ๊วยดำ ๑๐๐ กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี ต้มใส่น้ำตาลพอประมาณ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วดื่ม มีสรรพคุณสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย หยุดไอ แก้ท้องเสีย
- ดอกเก๊กฮวย ๑๐ กรัม ชาใบเขียว ๑๐ กรัม ต้มใส่น้ำ ๕๐๐ ซีซี กินแทนน้ำ ช่วยขับร้อน ทำให้ตาสว่าง เสริมสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ลดอักเสบ ขับพิษร้อน
- ใบบัวสด (บัวหลวง) ๒๐กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี นำมาต้ม เวลาดื่มเติมน้ำตาลเล็กน้อย จะช่วยขับร้อน ทำให้เย็น สร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ขับความชื้น ลดไขมันในเลือด
- ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำอย่างละ ๕๐ กรัม ต้มใส่น้ำตาลกินทั้งเปลือก มีสรรพคุณขับร้อน ทำให้เย็น ขับความชื้น บำรุงไต เพิ่มพลัง
- บ๊วยดำ ๑๐๐ กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี ต้มใส่น้ำตาลพอประมาณ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วดื่ม มีสรรพคุณสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย หยุดไอ แก้ท้องเสีย
การดื่มน้ำชาหรืออาหารสมุนไพรที่ร้อน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการขับเหงื่อ กระจายความร้อน สังเกตได้ว่าหลังจากกินอาหารดังกล่าวจะทำให้รู้สึกสบาย สรรพคุณของสมุนไพรก็เพื่อทำให้ภายในร่างกายไม่ร้อนเกินไป และสร้างน้ำเพื่อไม่ให้เสียเหงื่อมาก แต่ไม่ควรดื่มน้ำชาใส่น้ำแข็ง เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี
- ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรก ความร้อนจากลมแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับ ตากลมในขณะเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิผิวของร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สด ชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้ การใช้พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศไม่ควรให้กระทบโดยตรงกับร่างกายนานๆ โดยเฉพาะที่บริเวณท้อง หากโดนลม นานๆ จะทำให้ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสียได้ หรือคนที่พลังพร่อง เมื่อโดนลมนานๆ จะทำให้เกิดความเย็น โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า ทำให้การไหลเวียนเลือดน้อยลง คนที่อยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาออกจากห้องต้องระวังการปรับตัวกับอากาศที่ร้อนภายนอก เด็กที่ไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าต้องระวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รวดเร็วจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
- การนอน การพักผ่อน โดยธรรมชาติของฤดูร้อน กลางวันจะยาว กลางคืนจะสั้น (คนทั่วไปที่ไม่ได้นอนในห้องปรับอากาศที่ปรับอุณหภูมิ) กว่าอากาศจะเย็นสบายให้นอนหลับได้ก็มักจะดึก แล้วตอนเช้าตรู่ท้องฟ้าก็สว่างเร็ว ทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าที่เคยเป็น หน้าร้อนเราจะนอนได้น้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันอุณหภูมิในตอนกลางวันจะทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เหนื่อยง่าย (เพราะมีเลือดไหลเวียนมาที่ผิวกายมากกว่าปกติ แต่ไปเลี้ยงสมองหรือไป ที่ระบบการย่อยอาหารน้อยกว่าปกติ) ทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกง่วงตลอด ในภาวะเช่นนี้ หลายคนที่อยู่ในห้องปรับอากาศอาจจะไม่ค่อยรู้สึกกับการเปลี่ยนของอากาศมากนัก แต่สำหรับคนทั่วไป (โดยเฉพาะคนในชนบทหรือคนที่ต้องทำงานในที่กลางแจ้ง) การได้พักผ่อนนอนหลับในช่วงกลางวันบ้าง จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่น้อยเลย ผู้ที่ทำงานในที่ทำงานคงจะนอนหลับกลางวันไม่สะดวก อาจใช้วิธีนั่งพิงพนักตัวตรง หลับตา สงบนิ่งๆ ในช่วงกลางวัน ก็เป็นการพักผ่อนที่ดี แต่สำหรับผู้ที่สถานทีอำนวยที่จะนอนหลับช่วงกลางวันนั้น ท่าที่นอนควรเป็นท่านอนราบหรือนอนตะแคง ห้ามนอนคว่ำ หรือนอนฟุบบนโต๊ะทำงาน เพราะจะกดท้อง กดทรวงอก กระทบการหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวจึงผ่อนคลายไม่เต็มที่
- อาหาร ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกหิว การปฏิบัติตัวสำหรับการกินอาหารที่เหมาะสมในหน้าร้อนนั้น พอสรุปได้ ดังนี้
- ข้าวต้มมื้อเช้า ตอนตื่นนอน ท้องจะว่างเนื่องจากกระเพาะอาหารพร่อง ควรเริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อนๆ เพราะในหน้าร้อน ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากความร้อนทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำให้สูญเสียน้ำ การทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหารลดลง จึงยิ่งต้องถนอมการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่จะย่อยสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกาย ข้าวต้มอาจผสมถั่วเขียว, เมล็ดบัว หรือรากบัว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยขับความร้อน เสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม
- ควรกินผลไม้ที่แพทย์แผนจีนถือว่ามีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน เพิ่มน้ำในร่างกาย ผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงกวา, แตงโม, แตงไทย, มังคุด, สับปะรด, สาลี่ เป็นต้น เหมาะสำหรับ กินแก้กระหายและขับร้อนในร่างกาย แต่ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน หรือขณะที่ท้องว่างหรือเวลาหิวจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทฤษฎีแพทย์จีนถือว่ามีคุณสมบัติร้อน อาหารทอดๆ มันๆ แห้งๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกทอดๆ มันๆ เช่น ถั่วทอด, กล้วยแขก, ปาท่องโก๋, ไก่ทอด ฯลฯ หรืออาหารที่มีคุณสมบัติร้อน เช่น น้อยหน่า, ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย, ขนุน เป็นต้น โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการคอแห้ง, คันคอ, เจ็บคอ หรือเป็นไข้ตัวร้อน ถ้าจะกินก็ควรกินแต่น้อย แล้วดื่มน้ำเกลือ (น้ำเปล่าผสมเกลือป่น) เพื่อดับความร้อน หรือกินอาหารที่มีคุณสมบัติเย็น ช่วยปรับสมดุล สิ่งที่ควรระวังอีกอย่าง คือ หน้าร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ดังนั้นจึงควรจะระมัดระวังเรื่องการกิน ควรกินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ จะปลอดภัยกว่า
- การดูแลสุขภาพเด็กเล็ก
- เรื่องเสื้อผ้า ควรเป็นประเภทผ้าฝ้ายที่ดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี เสื้อผ้าของเด็กต้องหลวม ไม่คับ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และควรระวังเรื่องการอับชื้นจากปัสสาวะ เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดผดผื่นคันได้
- เรื่องอาหาร ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง (ตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๕) ร่างกายของเด็กยังอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย เพราะฉะนั้น อาหารจึงต้องสุกและสะอาดเสมอ น้ำแข็ง น้ำอัดลม ไอศกรีม ที่เป็นของโปรดของเด็กๆ ทุกคน ขณะเดียวกันความเย็นก็จะทำให้ระบบการย่อย การดูดซึมอาหารผิดปกติ จึงไม่ควรให้เด็กๆ กินบ่อย
- ที่อยู่อาศัย การระบายความร้อนในห้องนอนมีความสำคัญต่อเด็กมาก ถ้าหากไม่มีเครื่องปรับอากาศ การใช้พัดลมต้องระมัด ระวังไม่ให้พัดลมถูกตัวเด็กโดยตรงไม่ควรให้เด็กนอนในที่เปียกชื้น บนพื้นปูน หรือพื้นที่เย็น ในกรณีที่เด็กมีเหงื่อออกมาก ต้องพลิกตัวเด็กบ่อยๆ เพื่อระบายความร้อนและใช้ผ้าผืนบางๆ เล็กๆ ปิดบริเวณหน้าอกและบริเวณท้อง เพื่อป้อง กันการกระทบความเย็น
- การเดินทาง ในแสงแดดมีรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น เมื่อต้องเดินทางไปไหน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อช่วยป้องกันแสงแดด
- หญิงตั้งครรภ์กับการปฏิบัติตัวในหน้าร้อน ขณะตั้งครรภ์ การเผาผลาญพลังงานในร่างกายของผู้หญิงจะสูงกว่าภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด จึงทำให้มีอาการหงุดหงิด มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย และเกิดภาวะลมแดดง่ายกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงตั้งครรภ์ การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องมิดชิด และเพื่อป้องกันการกระทบความเย็น จึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมกระทบโดยตรง ขณะเดียวกันต้องป้องกันความร้อนอบอ้าวด้วย การระบายอากาศในห้องจึงต้องดี ไม่ควรนอนบนเสื่อที่เย็น และ ควรมีผ้าห่มคลุมกายเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ระวังอย่าให้เป็นหวัด ห้ามอาบน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป เสื้อผ้าต้องหลวม ระบายอากาศดี ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ฯลฯ และผิวกายต้องสะอาดสะอ้าน อาหารที่กินต้องสดสะอาด และมีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา นม ถั่ว ฯลฯ ผลไม้พวกแตง (แตงโม แตงกวา) รวมทั้งมะเขือเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ขับร้อน หยุดกระหาย ก็มีความเหมาะสม (แต่ไม่ควรแช่เย็น) และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทอุ่นร้อน อาหารและเครื่องดื่มที่ลดร้อนควรเป็นพวกถั่วเขียวต้ม ชาดอกเก๊กฮวย น้ำดื่มที่มีน้ำหวานและเกลือ (เกลือแร่) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือ กาเฟอีน เพราะสามารถผ่านเข้าไปในรกได้ง่าย และยังผ่านไปยังเต้านมไปถึงทารกได้ด้วย
- บุคคล ๓ ประเภทที่ต้องระวังให้มาก คนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ (คนสูงอายุมักมีระบบย่อยไม่ดีและความร้อนในร่างกายจะถดถอย เนื่องจากไตเสื่อมตามสภาพ), คนที่มีสภาพของม้ามพร่อง (มีอาการการย่อยอาหารและการดูดซึมไม่ดี ท้องอืดง่าย), คนที่มีสภาพของไตหยางพร่อง (มีอาการขี้หนาว แขนขาเย็น ลิ้นบวม และสีซีดขาว) ผู้ที่มีลักษณะทั้ง ๓ อย่างดังกล่าว เมื่อได้รับความร้อนจากแดดร้อน ถ้าดื่มน้ำเย็นหรือกินอาหารที่มีความเย็นมากเกินไป จะทำให้ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ผิดปกติได้ และเกิดความชื้นสะสมในร่างกาย อาการที่แสดงออก คือ ท้องเสีย ติดเชื้อง่าย ขี้หนาว ปวดหัว ตัวร้อนแต่ไม่สามารถขับเหงื่อได้ ปวดข้อและปวดตามกล้ามเนื้อ มักตรวจ พบว่า มีฝ้าสีขาวบนลิ้น คิดว่าความรู้ต่างๆ เหล่านี้ คงทำให้ทุกคนผ่านพ้นหน้าร้อนปีนี้และทุกๆ ปีไปอย่างสุขกาย สุขใจ ไร้ปัญหานะครับ
- ลักษณะธรรมชาติของความร้อน (ร้อนแดด)
- มีลักษณะเป็นปัจจัยด้านหยาง (กระตุ้นการทำงานของร่างกาย) ดังนั้น เมื่อกระทบร่างกายจะแสดงออกไปทางด้านที่แกร่ง เช่น หัวใจเต้นแรงเร็ว หน้าแดง ร้อนหงุดหงิด
- มีลักษณะกระจายตัวขึ้นส่วนบนของร่างกายทำให้สูญเสียน้ำในร่างกาย เช่น ทำให้รูขุมขนเปิด มีการระบายเหงื่อ (ช่วยระบายความร้อน = แพทย์แผนตะวันตก) จึงทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะเข้ม ปริมาณน้อย การสูญเสียสารน้ำจะทำให้สูญเสียพลังไปด้วย เพราะฉะนั้น ในคนที่ร่างกายอ่อนแอ (พลังพร่อง) อาจทำให้เป็นลมหมดสติได้
- มีลักษณะอมความชื้น บางครั้งในฤดูร้อนอาจจะมีฝนตกร่วมด้วย (โดยเฉพาะตอนปลายฤดูร้อนเข้าต้นฤดูฝน) ซึ่งความชื้นนี้จะทำให้รู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณท้องและทรวงอก เพราะไปกระทบระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารของร่างกาย
หนังสือ “เซ่อ เซิง เซียวซิ ลุ่น” สมัยราชวงศ์หยวนได้บันทึกไว้ว่า “ฤดูร้อน ไฟหัวใจจะแกร่ง ไตจะอ่อนแอ ความร้อนภายนอกมีมาก ไม่สมควรกินน้ำแข็ง ข้าวหรือโจ๊กที่เย็นชืด เพราะท้องที่กระทบความเย็นมาก อาจทำให้ท้องเสีย ไม่ควรนอนกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงจันทร์และแสงดาว การได้รับลมโกรกแรงและนานจะทำให้ลมเข้าสู่ส่วนลึกของร่างกาย เพราะฉะนั้น คนที่กินของเย็นร่วมกับการสูญเสียเหงื่อมาก เมื่อกระทบลมเย็นจะทำให้กล้ามเนื้อชาง่าย”
Source : thaihealth, payap